7 นักล่าน้ำหวานสายพันธุ์ Apis

บนโลกนี้มีแมลงนักผสมเกสร (Insect Pollinators) อยู่มากมายหลายชนิด หลายสายพันธุ์ และผึ้ง (Bee) ก็เป็นหนึ่งในแมลงนักผสมเกสรเหล่านั้น แต่การที่จะถูกเรียกว่าผึ้งได้นั้น ไม่เพียงแต่ต้องเป็นนักผสมเกสรตัวยง ยังต้องเป็นนักล่าน้ำหวานตัวฉกาจอีกด้วย แต่ก็ยังมีผึ้งที่เป็นสุดยอดนักล่าน้ำหวานตัวฉกาจที่แท้จริง (Honey Bee) นั่นก็คือผึ้งสายพันธุ์ Apis

 

ต่อไปนี้คือ 7 สุดยอดนักล่าน้ำหวานตัวฉกาจในสายพันธุ์ Apis

 

  1. ผึ้งมิ้มดำ (Apis andreniformis)

ผึ้งมิ้มดำ หรือผึ้งแคระดำ บางครั้งเรียกว่าผึ้งม้าน หรือผึ้งม้าม เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างหายาก อาศัยอยู่ในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่งได้รับการจำแนกเป็นสปีชีส์ที่แยกต่างหากเมื่อไม่นานมานี้ ลำตัวมีสีเข้มที่สุดในสกุล Apis โดยเฉพาะราชินีจะมีสีดำเกือบทั้งตัว ส่วนผึ้งงานจะมีแผ่นสันหลัง สีอ่อนเกือบเหลือง

ผึ้งชนิดนี้ทำรังโล่งแจ้งในบริเวณป่าที่ค่อนข้างมืด รังมีหวีเดียว แขวนอยู่ตามกิ่งเล็ก ๆ ของต้นไม้ป่า ที่ความสูงเฉลี่ยประมาณ 2.5 เมตร รังผึ้งมีขนาดประมาณ 70-90 มิลลิเมตร รังจะแบ่งเป็นส่วนเก็บน้ำหวานอยู่รอบกิ่ง และด้านล่างจะเป็นส่วนรังฟัก ซึ่งเป็นที่ที่ตัวอ่อนของผึ้งเจริญเติบโต

 

  1. ผึ้งมิ้น (Apis Florea)

ผึ้งมิ้น หรือผึ้งมิ้ม เป็นผึ้งขนาดเล็ก พบได้ในบางพื้นที่ของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงแอฟริกา ผึ้งชนิดนี้สร้างรังเปิดโล่ง และอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ทำให้พวกมันง่ายต่อการถูกล่า ผึ้งมิ้นใช้การรำเพื่อสื่อสารและตัดสินใจสิ่งต่างๆ แม้แต่การสร้างรังใหม่ โดยอาศัยเสียงรำของผึ้งส่วนใหญ่ที่ชี้ไปยังทิศทางของพื้นที่ที่เหมาะสม เมื่อตัดสินใจได้ ผึ้งงานจะใช้เสียงร้อง (piping) เพื่อแจ้งให้ทั้งรังทราบ จากนั้นฝูงจะเคลื่อนย้ายไปยังที่อยู่อาศัยใหม่ ผึ้งมิ้นสร้างรังที่มีแผ่นรังเดียวบนกิ่งไม้ และอาจนำเอารังเก่ามาใช้ซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรังเก่าอยู่ใกล้กับรังใหม่

อาหารของผึ้งมิ้น ได้แก่ น้ำหวาน เกสรดอกไม้ และน้ำผึ้ง พวกมันใช้การรำเพื่อสื่อสารทิศทางแหล่งอาหารด้วย น่าเสียดายที่ผึ้งมิ้นถูกล่าเพื่อเอาน้ำผึ้งเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผึ้งมิ้นยังมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมฮินดูและพุทธ การตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ บังคับให้ผึ้งมิ้นต้องลดพื้นที่หากินและย้ายไปอยู่อาศัยในแหล่งที่ผู้คนเบาบางลง

 

 

  1. ผึ้งหลวง (Apis Dorsata)

ผึ้งหลวง เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่พบได้ในพื้นที่ป่าของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชากรกระจายพันธุ์ที่สำคัญในประเทศอินเดีย เนปาล มาเลเซีย และสิงคโปร์ ผึ้งชนิดนี้มีความยาวประมาณ 17-20 มิลลิเมตร สร้างรังอยู่ในที่โล่งแจ้งบนที่สูง เช่น หน้าผาใต้โขดหิน อาคารสูง หรือ ต้นไม้ใหญ่ในป่าทึบ ผึ้งหลวงขึ้นชื่อเรื่องพฤติกรรมดุร้ายและก้าวร้าว รังของพวกมันเป็นแหล่งสำคัญของขี้ผึ้งและน้ำผึ้ง ซึ่งถูกเก็บเกี่ยวโดยชนพื้นเมืองในถิ่นที่อยู่อาศัยของผึ้งมานานหลายศตวรรษ

ผึ้งหลวง สร้างรวงรังลักษณะคล้ายครึ่งวงกลมเกาะอยู่กับวัตถุ โดยอาจซ้อนกันหลายชั้น ประกอบด้วยช่องหลอดรวงรูปหกเหลี่ยม (Hexagon) ขนาดของรวงรังประมาณ 1 เมตร เคยพบรังผึ้งหลวงกว่า 200 รัง แต่ละรังมีผึ้งประมาณ 100,000 ตัว อาศัยอยู่ใกล้ชิดกัน แสดงให้เห็นถึงความอดทนทางสังคมซึ่งกันและกัน

มนุษย์มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับผึ้งหลวง ภาพเขียนผึ้งชนิดนี้บนผนังถ้ำยุคหินเก่า (Paleolithic era) ถูกค้นพบที่เมืองวาเลนเซีย ประเทศสเปน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง การขยายตัวของเมือง การล่าเอาน้ำผึ้ง และการตัดไม้ทำลายป่า ล้วนส่งผลกระทบต่อประชากรผึ้งเหล่านี้อย่างรุนแรง ผึ้งหลวง ขึ้นชื่อเรื่องการต่อยที่มีพิษร้ายแรง และเคยมีรายงานกรณีผึ้งหลวงต่อยจนถึงแก่ชีวิตของมนุษย์มาแล้ว

 

 

  1. ผึ้งโพรง (Apis Cerana)

ผึ้งโพรง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ผึ้งเอเชีย หรือ ผึ้งตะวันออก ในไทยจะเรียกผึ้งโพรงไทย เป็นผึ้งพื้นถิ่นชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ผึ้งชนิดนี้สร้างรังเป็นชั้นๆ ภายในโพรงหรือซอกหลืบที่มีทางเข้าเล็ก ๆ เพื่อป้องกันรังจากศัตรู โดยรังที่สมบูรณ์จะมีประมาณ 100,000 หลอดรวง และอยู่อาศัยกันได้ราว 6,000 – 7,000 ตัว อาหารของพวกมันได้แก่ เกสรดอกไม้ น้ำหวาน และน้ำผึ้ง นอกจากนี้ ผึ้งโพรงยังเป็นแมลงสังคมอย่างแท้จริง พวกมันสามารถอาศัยอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย ตั้งแต่ป่าฝนดิบชื้น ไปจนถึงทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ

ผึ้งโพรงมีจุดเด่นตรงที่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในรัง และใช้เป็นกลไกป้องกันศัตรู ตัวอย่างเช่น เมื่อ ตัวต่อยักษ์ บุกเข้ารัง ผึ้งโพรงประมาณ 500 ตัวจะกรุมตัวต่อ เอาไว้แล้วสั่นกล้ามเนื้อปีกเพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายในรังจนสูงถึง 47 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงขนาดนี้จะฆ่าตัวต่อได้ ในขณะที่ผึ้งเองสามารถทนความร้อนได้ถึง 48-50 องศาเซลเซียส

 

 

  1. ผึ้งโคเชฟนิคอฟ (Apis Koschevnikovi)

ผึ้งโคเชฟนิคอฟ หรือโคเชฟนิโควี บางครั้งเรียกว่าผึ้งแดง ผึ้งทองแดง หรือผึ้งแดงแห่งบาซาร์ เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่พบได้ในเกาะบอร์เนียวของทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย ลำตัวของผึ้งจะเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม หรือสีน้ำตาลเข้ม มีแถบสีตัด ผึ้งนางพญาและผึ้งตัวผู้จะมีแถบสีน้ำตาลอ่อนบริเวณท้อง ส่วนผึ้งงานจะมีแถบสีส้มอ่อนที่ท้อง

ภายในแหล่งที่อยู่อาศัย ผึ้งชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น ผึ้งชนิดนี้มีจำนวนลดลงทุกปีเนื่องจากการสูญเสียแหล่งอาศัยอันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ผึ้งชนิดนี้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในรวงผึ้งเพียงไม่กี่แผ่นภายในโพรงต้นไม้ของป่า พวกมันกินน้ำหวานจากดอกไม้และเป็นแมลงนักผสมเกสรที่สำคัญในระบบนิเวศ

 

 

  1. ผึ้งพันธุ์ (Apis Mellifera)

ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) หรือที่คนไทยเรียกว่า ผึ้งโพรงฝรั่ง (western honey bee) เป็นผึ้งชนิดที่พบมากที่สุดในโลก เช่นเดียวกับผึ้งชนิดอื่นๆ ผึ้งยุโรปมีพฤติกรรมอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่มีระบบแบบแผน และค่อนข้างซับซ้อน มีการแบ่งวรรณะชัดเจน มันเป็นแมลงชนิดแรก ๆ ที่ถูกนำมาเลี้ยง และเป็นผึ้งที่เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายที่สุดโดยผู้เลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตน้ำผึ้งและทำหน้าที่เป็นแมลงนักผสมเกสรที่ดีเยี่ยม

ปัจจุบันพบผึ้งชนิดนี้ได้ในทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์กติกา เป็นผึ้งอีกชนิดที่ลดจำนวนลงทุกปี แม้จะเป็นผึ้งที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ เหตุอันเนื่องมาจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฝุ่นควัน ศัตรูตามธรรมชาติ โรคในแมลง และสารเคมีจากฝีมือมนุษย์

 

 

  1. ผึ้งดำ (Apis Nigrocincta)

ผึ้งดำ (Apis Nigrocincta) เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และเกาะสุลาเวสี กับ เกาะซางเฮ ในประเทศอินโดนีเซีย ข้อมูลทางชีวภูมิศาสตร์ของผึ้งชนิดนี้ยังมีอยู่น้อย ในเกาะสุลาเวสี ส่วนใหญ่จะพบรังผึ้งชนิดนี้อยู่ตามพื้นที่ที่สูงกว่า 400 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ผึ้งชนิดนี้จะสร้างรังเป็นโพรงขนาดกลาง มีแผ่นรวงผึ้งหลายแผ่น โดยแต่ละแผ่นจะมีระยะห่างที่เกือบจะเท่าๆ กัน รังมักจะอยู่ใกล้กับพื้นดิน รังจะมีแผ่นรวงผึ้ง 2 แบบ คือ แผ่นรวงผึ้งขนาดเล็กสำหรับผึ้งงาน และแผ่นรวงผึ้งขนาดใหญ่สำหรับผึ้งตัวผู้ ส่วนช่องรังสำหรับราชินีจะอยู่ด้านล่างของแผ่นรวงผึ้ง

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *